880 จำนวนผู้เข้าชม |
ในยุคดิจิตอลแบบนี้ การใช้ชีวิตในแต่ละวันไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้งานคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือดูทีวีได้เลย ทำให้สายตาต้องเพ่งหน้าจออยู่แทบจะตลอดเวลา ยิ่งนานวันยิ่งทำให้เริ่มมีอาการตาล้า ตาพร่า ตาเบลอ ปวดตา หรือแสบตา เมื่อเกิดอาการเหล่านี้จึงอย่าละเลย เพราะเป็นสัญญาณเตือนให้เราหยุดพักสายตาและถนอมสายตาได้แล้ว
หากทิ้งไว้นานอาจเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควร ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-Related Macular Degeneration or AMD)
เกิดจากเซลล์ที่จอประสาทตาถูกทำลาย ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง มองภาพไม่ชัด เห็นเหมือนมีจุดดำบังตรงกลาง หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ซึ่งจะเป็นไปอย่างช้าๆ จนถึงทำให้สูญเสียการมองเห็น ยากที่จะดำเนินชีวิตให้เป็นปกติได้
วิธีการถนอมดวงตา เพื่อรักษาดวงตาคู่นี้ให้อยู่กับเรานานเท่านาน
1. กระพริบตาให้ถี่ขึ้น ลดอาการตาแห้ง หรือใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น
2. เลือกใช้ตัวอักษรใหญ่เวลาพิมพ์งาน และปรับความเข้มของตัวอักษรให้เหมาะสม
3. จัดวางคอมพิวเตอร์ให้แสงเข้าทางด้านข้างของจอเพื่อลดแสงตกสะท้อนบนหน้าจอ จอห่างจากสายตา 18-24 นิ้ว จัดระดับจอภาพจากจุดศูนย์กลางของจอให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 4-9 นิ้ว ไม่ควรให้จอภาพอยู่สูงหรือต่ำเกินไป
4. การดูทีวี ควรปรับความสว่างของจอให้เหมาะสม และควรนั่งห่างประมาณ 5 เท่าของขนาดจอ
5. เลือกแว่นตาที่เหมาะสมกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ ที่ผลิตมาเพื่อกรองแสงจากหน้าจอโดยเฉพาะ และใช้เลนส์กรองแสงสีฟ้าที่ช่วยให้สบายตา และลดแสงสะท้อนจากจอภาพ
6.สวมแว่นกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องออกกลางแดด
7. หลับตาเพื่อพักสายตาทุก 1 ชั่วโมง บริหารดวงตาหรือเปลี่ยนอิริยาบถลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายบ้าง
8. เมื่อมีฝุ่นละอองหรือเศษผงเข้าตา ห้ามขยี้ตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำยาล้างตา
9. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และบำรุงสายตา
ได้แก่ ผักหรือผลไม้ที่ให้วิตามิน เอ ซี อี สูง เช่น ฟักทอง แครอท มะละกอสุก
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ซึ่งมีแอนโธไซยานินสูง เช่น มัลเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และแบล็คเคอร์แรนต์
อาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาจะละเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากะพงขาว ปลาทู ปลาเก๋า ปลาดุก ปลาสวาย ปลาช่อน ปลานิล ปลากราย เป็นต้น
10. ควรตรวจสุขภาพตา จากจักษุแพทย์ปีละครั้ง เพื่อรักษาสุขภาพดวงตาอยู่เสมอ
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ